การประสานประโยชน์ หมายถึง
การร่วมมือกันเพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของตนและเป็นการระงับกรณีความขัดแย้งที่มาจากการแข่งขันทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
การประสานประโยชน์หรือความร่วมมือระหว่างประเทศนั้น นอกจากเป็นหนทางในการสร้างสันติภาพแล้วยังเป็นการประสานผลประโยชน์ร่วมกันทั้งทางด้านการค้า
การทหาร ตลอดจนวัฒนธรรม จึงทำให้ประเทศ ต่างๆ
เห็นความสำคัญในการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศเพื่อประสานผลประโยชน์ในด้านต่างๆ
ของตน
ประเภทของความร่วมมือระหว่างประเทศ
1. ความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านเมือง
เป็นความร่วมมือของประเทศต่างๆ ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย
2. ความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านทหาร
ในการให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารต่อกัน เช่น
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต เป็นต้น
3. ความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจ
เป็นการร่วมมือเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจร่วมกัน
ซึ่งหลายประเทศจะร่วมมือกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจ เช่น สหภาพยุโรป เอเปก
องค์การการค้าโลก เป็นต้น
4. ความร่วมมือระหว่างประเทศทางด้านการศึกษา
วัฒนธรรม และอื่นๆ ในการให้ความช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนความรู้และอื่นๆ
เพื่อเกิดความเข้าใจอันดี ความก้าวหน้า
การพิทักษ์คุ้มครองในแต่ละด้านที่มีการตกลงร่วมมือกัน ความร่วมมือด้านนี้ เช่น
องค์การยูเนสโก อาเซียน เป็นต้น
5. ความร่วมมือระหว่างประเทศที่เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นที่ได้รับความ
เดือดร้อน เช่น ผู้ได้รับภัยพิบัติ ผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองไม่ได้
ผู้อพยพจากภัยสงคราม เป็นต้น ความร่วมมือลักษณะนี้ เช่น
กองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ เป็นต้น
องค์การระหว่างประเทศ
องค์การระหว่างประเทศ หมายถึง
องค์การที่รัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไปร่วมกันก่อตั้ง
มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำและมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา
นโยบายขององค์การระหว่างประเทศจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของรัฐสมาชิกการเข้าเป็นสมาชิกเป็นไปตามความสมัครใจของรัฐ
องค์การระหว่างประเทศตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการธำรงรักษาสันติภาพและแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ
องค์การระหว่างประเทศนั้นจะมีลักษณะเป็นสากล เช่น องค์การสหประชาชาติ
ซึ่งมีแนวทางในการแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ
ถ้าวัตถุประสงค์ที่จัดตั้งมีลักษณะเฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มประเทศ
องค์การระหว่างประเทศนั้นจะเป็นองค์การระดับภูมิภาค เช่น
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
องค์การระหว่างประเทศจึงเป็นภาพสะท้อนความพยายามของรัฐต่างๆ
เพื่อรักษาสันติภาพหรือพยายามยับยั้งการใช้กำลังรุนแรงเข้าตัดสินความขัดแย้งระหว่างประเทศ
- องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)
สันนิบาตชาติเป็นองค์การระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพของโลก
โดยมีการประชุมครั้งแรกเพื่อพิจารณาก่อตั้งสันนิบาตชาติเกิดขึ้นที่กรุงเจนีวาประเทศ
สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 มีประเทศที่เข้าร่วมประชุม 42 ประเทศ
ซึ่งตลอดอายุขององค์การสันนิบาตชาติมีสมาชิกประเทศที่เป็นสมาชิกโดยตลอด 26 ประเทศ
แต่ในช่วงอายุขององค์การนี้มีประเทศที่เข้าร่วมและลาออกต่างวาระกันรวม 63 ประเทศ
ใน ค.ศ. 1918 ซึ่งเป็นช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1
ที่ฝ่ายพันธมิตรได้รับชัยชนะเหนือฝ่ายมหาอำนาจกลาง ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ได้เสนอข้อเสนอ 14 ประการ (Fourteen Points) เข้าพิจารณาเพื่อเป็นแนวในการเจรจาสันติภาพและจัดระเบียบโลก
หลังสงครามของฝ่ายพันธมิตร ประการหนึ่งในข้อเสนอ 14
ประการนั้นคือแผนการจัดตั้งสมาคมนานาชาติ
ซึ่งแผนการนี้เป็นพื้นฐานให้แก่กฎบัตรสันนิบาตชาติ ซึ่งมีกฎอยู่ 26 ประการด้วยกัน
องค์การสันนิบาตชาติมีหลักการในความร่วมมือกัน ดังนี้
1. ร่วมมือกันรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงระหว่างประเทศ
2. เป็นองค์การกลางในการตัดสินชี้ขาดกรณีพิพาทระหว่างประเทศ
3. ร่วมมือกันดำเนินการลดกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์
4. ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ
เพื่อเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต
การดำเนินงาน
1. สมัชชา คือ ที่ประชุมใหญ่ขององค์การ
ประกอบด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิกทั้งหมด
ประเทศสมาชิกจะส่งผู้แทนไปประจำได้ประเทศละ 3 คน
แต่การออกเสียงลงคะแนนได้เพียง 1 เสียง มีวาระการประชุมปีละครั้ง
เพื่อพิจารณาปัญหาต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสันติภาพโลก
2. คณะรัฐมนตรี
ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารองค์การ เมื่อตั้งครั้งแรกประกอบด้วยสมาชิกถาวร 4 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี
และญี่ปุ่น และสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งอีก 4
ประเทศ มีการประชุมกันปีละครั้ง เพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลกและปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของสมัชชา
3. สำนักงานเลขาธิการ
มีเลขาธิการซึ่งได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่เป็นสำนักงานจัดทำรายงาน
รักษาเอกสารหลักฐาน อำนวยการวิจัยและประสานงานกับฝ่ายต่างๆ
4. คณะกรรมาธิการ มีคณะกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ
ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจการด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่
องค์การอนามัยระหว่างประเทศ สำนักแรงงานสากล คณะกรรมาธิการฝ่ายดินแดนในอาณัติ
5. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ทำหน้าที่เกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทในการพิจารณาคดีและกรณีพิพาทเกี่ยวกับพรมแดน
ประกอบด้วยผู้พิพากษา 15 คน
จุดอ่อนขององค์การสันนิบาตชาติ
1. ประเทศมหาอำนาจไม่ได้เป็นสมาชิก
กฎข้อบังคับขององค์การสันนิบาตชาติจะบังคับใช้ได้ผลเฉพาะประเทศที่ไม่ค่อยมีอำนาจและบทบาทมากนัก
แต่ไม่มีผลบังคับประเทศมหาอำนาจ เนื่องจากไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกหรือลาออกไปแล้ว
สหรัฐอเมริกา :
สภาคองเกรสไม่ยอมให้สัตยาบันที่ให้สหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติ
โดยอ้างว่าต้องปฏิบัติตามวทะมอนโร ซึ่งมีนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวและแทรกแซงการเมืองของประเทศในยุโรป
สหภาพโซเวียต :
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1
สหภาพโซเวียตเกิดความวุ่นวายภายในประเทศ เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกเมื่อ ค.ศ. 1934
เยอรมนี : เข้าเป็นสมาชิกใน
ค.ศ. 1926 และถอนตัวออกไปใน ค.ศ. 1933
ญี่ปุ่น : ถอนตัวออกไปใน
ค.ศ. 1933
อิตาลี : ถอนตัวออกไปใน ค.ศ.
1937
2. ประเทศมหาอำนาจโจมตีประเทศอื่น
มหาอำนาจหลายประเทศก่อความก้าวร้าวและรุกรานประเทศอื่น
ถึงแม้ว่าจะมีองค์การสันนิบาตชาติ แต่เมื่อประเทศมหาอำนาจต้องการผลประโยชน์หรือเสียผลประโยชน์ด้วยประการใดก็ตาม
มหาอำนาจจะเพิกเฉยต่อบทบาทหน้าที่ขององค์การสันนิบาตชาติหรือลาออกจากการเป็นสมาชิก
ซึ่งเป็นความล้มเหลวขององค์การสันนิบาตชาติ
การตั้งสมาคมนานาชาติที่เรียกว่าสันนิบาตชาติ (League of Nations) เพื่อวัตถุประสงค์
ดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ลงนามกันที่พระราชวังแวร์ซาย ใน
ค.ศ. 1919 แต่เนื่องจากมาตรา 10
ซึ่งระบุว่าชาติสมาชิกจะร่วมมือกันเพื่อรักษาเอกราชของชาติสมาชิก
และหากจำเป็นก็จะร่วมมือกันต่อสู้กับชาติรุกราน ซึ่งมีนัยว่าเป็นการเข้าสงคราม
จึงทำให้วุฒิสภาของสหรัฐฯ ไม่ยอมให้สัตยาบันแก่องค์การสันนิบาตชาติ
แต่ถึงแม้สหรัฐฯ จะไม่ได้เป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ สหรัฐฯ
ก็เข้าร่วมประชุมและสนับสนุนกิจกรรมของสันนิบาตชาติอย่างไม่เป็นทางการ
การขาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจสำคัญเป็นสมาชิก
ทำให้องค์การสันนิบาตชาติขาดความเข้มแข็งที่ควรจะเป็น
- องค์การสหประชาชาติ (United Nations)
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
ฝ่านสัมพันธมิตรไดเหาวิธีป้องกันมิให้เกิดสงครามขึ้นอีก นายกรัฐมนตรีเซอร์วินสตัน
เชอร์ชิลล์ แห่งอังกฤษ และประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ แห่งสหรัฐอเมริกา
ได้ร่วมกันประกาศกฎบัตรแอตแลนติก ต่อมาประเทศต่างๆ รวม 26
ประเทศได้ให้คำรับรองต่อกฎบัตรแอตแลนติก
องค์การสหประชาชาติได้รับการก่อตั้งจากการประชุมนานาชาติที่นครซานฟรานซิสโก
รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 25
เมษายน ถึงวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1945
ในการประชุมครั้งนี้สมาชิกได้ร่วมกันร่างกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งมี 50
ประเทศร่วมลงนามรับรองการก่อตั้งองค์การนานาชาติใน ค.ศ. 1945 และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา จึงถือว่าวันที่ 24 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันสหประชาชาติ
โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก
ประเทศสหรัฐอเมริกาและมีสำนักงานสาขาอยู่ในหลายประเทศ
วัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง
1. รักษาสันติภาพและความปลอดภัยของนานาชาติ
2. พัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างนานาประเทศ
3. ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ
สังคม วัฒนธรรม และเสรีภาพ ขั้นพื้นฐาน
4. เป็นศูนย์ประสานงานกิจกรรมของชาติต่างๆ
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เหล่านี้
โครงสร้างและหน้าที่
องค์การสหประชาชาติประกอบด้วยองค์กร 6 หน่วยงาน ดังนี้
1. สมัชชา (General Assembly) คือที่ประชุมใหญ่ของประเทศสมาชิก
ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 191 ประเทศ
2. คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) เป็นองค์กรรับผิดชอบการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศเพื่อรักษาสันติภาพของสังคมโลก
3. สำนักเลขาธิการ (Secretariat) ปฏิบัติหน้าที่ด้านธุรการและบริการ
รวมทั้งงานที่ได้รับมอบหมาย โดยมีเลขาธิการใหญ่เป็นหัวหน้าสำนักงาน
เลขาธิการใหญ่เป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการนำเรื่องพิพาทหรือปัญหาระหว่างประเทศเข้าสู่การพิจารณาของคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อพิจารณาและดำเนินการตามมติ
4. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council) มีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ
สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และการสาธารณสุขของนานาประเทศทั่วโลก
5. คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council) มีหน้าที่และความรับผิดชอบดูแลดินแดนที่อยู่ในภาวะทรัสตี
ซึ่งก็คือดินแดนที่ยังปกครองตนเองไม่ได้ (ล้าหลังและอ่อนแอ)
ให้พัฒนาจนสามารถปกครองตนเองได้ ซึ่งในปัจจุบันไม่มีดินแดนในภาวะทรัสตีแล้ว
6. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) หรือเรียกว่า ศาลโลก
มีภาระหน้าที่ให้คำแนะนำด้านกฎหมายแก่องค์กรต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ
และพิจารณาตัดสินคดีที่ประเทศสมาชิกนำเสนอหรือฟ้องร้องและส่งคำพิพากษาให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงเพื่อบังคับใช้
- องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ
(North Atlantic
Treaty Organization: NATO)
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ
(North Atlantic
Treaty Organization) หรือ
นาโต (NATO) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1949 โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1. ร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศสมาชิกในลักษณะการป้องกันร่วมเพื่อรักษาสันติภาพ
และความมั่นคงของประเทศสมาชิก
2. ช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
ซึ่งจุดมุ่งหมายที่แท้จริงขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือก็คือการร่วมมือเพื่อป้องกันมิให้สหภาพโซเวียตขยายอิทธิพลเข้ามาในยุโรปตะวันตกโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นสมาชิกสำคัญ
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงบรัสเซลส์
ประเทศเบลเยียม ประเทศสมาชิกเริ่มแรก ได้แก่ เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อังกฤษ
เยอรมนี (ตะวันตก) กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ โปรตุเกส
เนเธอร์แลนด์ ตุรกี สเปน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา
ต่อมาหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายไปแล้ว
ใน ค.ศ. 1993
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือได้เสนอโครงการหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace: PfP) ซึ่งทำให้รัสเซียเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต
ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1999 โปแลนด์ ฮังการี และสาธารณรัฐเช็ก
ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก
ใน ค.ศ. 2002 รัสเซียได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือระหว่างนาโตกับรัสเซีย
จัดตั้งคณะมนตรี นาโต-รัสเซีย (NATO-Russia
Council)
ใน ค.ศ. 2004 ประเทศในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอ ได้แก่
บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย
ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ปัจจุบันองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือมีสมาชิกรวม 27 ประเทศ
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือมีโครงสร้างองค์การ ดังนี้
1. คณะมนตรีแอตแลนติกเหนือ (The North Atlantic Council) หรือ NAC
2. คณะกรรมาธิการวางแผนการป้องกัน (The Defense Planning Committee)
3. คณะกรรมาธิการทหาร (The Military Committee)
4. คณะกรรมการวางแผนเกี่ยวกับนิวเคลียร์
(The Nuclear
Planning Group)
5. คณะกรรมการวางแผนส่วนภูมิภาคแคนาดา-สหรัฐฯ
(The Canada-US
Regional Planning Group)
หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือได้ปรับทิศทางขององค์การมาเน้นทางด้านการเมืองและการจัดกองกำลังทหารเพื่อการปฏิบัติการเร็วสำหรับแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1995
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือเป็นผู้นำกองกำลังนานาชาติเข้ารักษาสันติภาพในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
ใน ค.ศ. 1999
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือได้ส่งกองทหารเข้ารักษาสันติภาพในโคโซโว (Cosovo)
หลังจากเหตุการณ์ที่กลุ่มก่อการร้ายถล่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารเพนตากอน
ที่ทำการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11
กันยายน ค.ศ. 2001 แล้ว
องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือได้ใช้มาตรการของสนธิสัญญาเป็นครั้งแรกและได้ส่งกองกำลังนานาชาติเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัย
(International
Security Assistance Force) เข้าไปเป็นผู้นำในการปฏิบัติการในอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2003
ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือส่งกองกำลังออกไปปฏิบัติการนอกทวีปยุโรป
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (The Warsaw Pact Treaty Organization)
สหภาพโซเวียตเป็นผู้นำในการก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอขึ้นเมื่อวันที่
14 พฤษภาคม ค.ศ. 1955 ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์
เป็นการตอบโต้การที่สหพันธรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก)
ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือในวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 1955 มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงมอสโก โดยมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำและประเทศ
ในยุโรปกลางและตะวันออก ได้แก่ โปแลนด์ เยอรมนีตะวันออก เช็กโกสโลวาเกีย บัลแกเรีย
ฮังการี โรมาเนีย และแอลเบเนีย ร่วมเป็นสมาชิก
องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอจึงเป็นองค์การความร่วมมือทางทหารที่เป็นคู่แข่งกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือโดยตรงในยุคสงครามเย็น
โดยมีวัตถุประสงค์คือ การร่วมมือกันทางทหารเพื่อต่อต้านการรุกรานจากภายนอก
โดยต่างจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก
ตั้งแต่ ค.ศ. 1961
แอลเบเนียได้เลิกให้การสนับสนุนองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ เนื่องจากจีนกับสหภาพโซเวียตมีความเห็นขัดแย้งกันด้านอุดมการณ์
โดยแอลเบเนียสนับสนุนจีน
เมื่อสหภาพโซเวียตส่งกองทัพพันธมิตรขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอยึดครองสาธารณรัฐเช็กใน
ค.ศ. 1968 เนื่องจากผู้นำคือนายอเล็กซานเดอร์
ดูบเช็ก (Alexander
Dubcek) พยายามปฏิรูปประเทศไปในแนวประชาธิปไตยมากขึ้น
การที่สหภาพโซเวียตยกกองทัพเข้ายึดครองสาธารณรัฐเช็กถือเป็นการละเมิดข้อตกลงในเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายใน
แอลเบเนียจึงประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิก ส่วนผู้นำของโรมาเนีย นายนิโคเล
ซอเซสคู (Nicolae
Ceausescu) ก็ประณามการรุกรานของสหภาพโซเวียตในครั้งนี้เช่นกัน
ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1990 เมื่อเยอรมนีรวมประเทศ
สาธารณรัฐเยอรมนีใหม่จึงเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือตามสมาชิกภาพของเยอรมนีตะวันตก
ในขณะเดียวกันสมาชิกภาพของเยอรมนีตะวันออกในองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอก็สิ้นสุดลง
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1988 นายมิกาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ผู้นำสหภาพโซเวียตได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสหภาพโซเวียตให้เป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
โดยได้เสนอแนวคิดที่เรียกกันว่า ลัทธิสิเนตรา (Sinatra Doctrine) และยกเลิกลัทธิเบรซเนฟ (Breznev Doctrine) ดังนั้นประเทศพันธมิตรเดิมของสหภาพโซเวียตที่เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลกำลังทหารของสหภาพโซเวียตจึงมีเสรีภาพที่จะทำการตามที่ตนต้องการได้
ผลก็คือ
เกิดการเปลี่ยนแปลงในบรรดาประเทศที่เคยเป็นบริวารอดีตสหภาพโซเวียตในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
รัฐบาลคอมมิวนิสต์ในประเทศเหล่านี้ถูกล้มล้างและแทนที่โดยรัฐบาล ประชาธิปไตย
หลังจาก ค.ศ. 1989 เป็นต้นมา รัฐบาลใหม่ๆ
ของสมาชิกหลายประเทศเริ่มเลิกให้การสนับสนุนองค์การนี้ และในที่สุดประเทศโปแลนด์
เช็กโกสโลวะเกีย และฮังการี ก็ประกาศถอนตัวในเดือนมกราคม ค.ศ. 1991 และเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนี้
บัลแกเรียก็ประกาศถอนตัวจากการเป็นสมาชิกในการประชุมสมาชิกวอร์ซอครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่
1 กรกฎาคม ค.ศ. 1991 ที่กรุงปราก ประเทศเช็กโกสโลวะเกีย
ที่ประชุมลงมติให้ยุบองค์การนี้
- องค์การการค้าโลก (World Trade Organization)
องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นองค์การระหว่างประเทศสังกัดสหประชาชาติ
มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสมาชิก 150 ประเทศ(ประเทศล่าสุดคือประเทศตองกา)
กำเนิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1995
เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลและดำเนินการเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างประเทศ
โดยเป็นองค์การที่เป็นผลตามมาของข้อตกลงทั่วไปเกี่ยวกับภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and
Trade) หรือที่เรียกชื่อย่อว่า
แกตต์ (GATT) ซึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1947
วัตถุประสงค์
องค์การการค้าโลกมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชากรในประเทศที่เป็นสมาชิกให้ดีขึ้นด้วยการลดกำแพงการค้าและเปิดเวทีให้มีการเจรจากันเกี่ยวกับเรื่องการค้า
เพื่ออำนวยให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินไปโดยสะดวก
ด้วยการจัดให้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ตามความพร้อมของประเทศสมาชิกและระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิก
องค์การการค้าโลกได้กำหนดกฎกติกาต่างๆ
ให้มีการปฏิบัติอย่างเป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา (Special and Differential Treatment:
S&D) เพื่อให้สามารถเข้าร่วมในระบบการค้าพหุภาคีได้
องค์การการค้าโลกจึงเป็นองค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง
จะมีการเจรจาเพื่อพัฒนาและสร้างกฎกติกาใหม่ๆ
เพื่อให้สามารถรองรับกับวิวัฒนาการของการค้าระหว่างประเทศและรูปแบบการค้าโลกที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง
สมาชิกขององค์การการค้าโลกมีสิทธิและพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามภายใต้ความตกลงต่างๆ
และกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศขององค์การการค้าโลก
นอกจากช่วยส่งเสริมให้การแข่งขันทางการค้าเป็นธรรมแล้ว
ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ทั้งผู้ค้าและผู้ลงทุน
ผู้ผลิตและส่งออกให้สามารถคาดการณ์และวางแผนการค้าระหว่างประเทศล่วงหน้าได้
โครงสร้างขององค์การการค้าโลก
1. ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Conference)
2. คณะมนตรีใหญ่ (General Council)
3. คณะมนตรี (Council)
นอกจากนี้ก็ยังมีคณะกรรมการต่างๆ (Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของประเทศสมาชิก
โดยมีฝ่ายเลขานุการช่วยในด้านการบริหารงานทั่วไป
องค์การการค้าโลกกำหนดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างน้อยทุกๆ 2 ปี
เพื่อทบทวนปัญหาในการปฏิบัติตามข้อผูกพันของสมาชิกและวางแนวทางในการเปิดเสรีภายใต้องค์การการค้าโลกต่อไป
หน้าที่ขององค์การการค้าโลก
1. ดูแลให้สมาชิกประเทศปฏิบัติตามพันธกรณี
2. เป็นเวทีสำหรับการเจรจาทางการค้าระหว่างสมาชิก
3. เป็นเวทีสำหรับแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสมาชิก
หากไม่สามารถตกลงกันได้จะมีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา
ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ข้อเสนอแนะ รวมทั้งมีกลไกยุติข้อพิพาทด้วย
หลักการของระบบการค้าตามแนวทางขององค์การการค้าโลก
องค์การการค้าโลกได้กำหนดกรอบแนวนโยบายการค้าให้สมาชิกประเทศปฏิบัติตาม
ดังนี้
1. หลักไม่กีดกัน (Non-discrimination) หลักการนี้ประกอบด้วยกติกา 2 ประการ คือ
หลักการชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most favoured nation) กับหลักการปฏิบัติต่อกันประดุจ เป็นชาติเดียวกัน (National treatment)
2. หลักต่างตอบแทน (Reciprocity) เพื่อป้องกันการเอาเปรียบทางการค้าอันเนื่องมา
จากหลักการชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง
และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ
3. หลักข้อตกลงที่เป็นข้อผูกพันและสามารถบังคับใช้ได้
(Binding and
enforceable commitments) เป็นข้อตกลงทางด้านภาษีศุลกากรที่สมาชิกลงนามรับรองในการเจรจาการค้าพหุภาคีซึ่งถือเป็นข้อผูกมัดที่สมาชิกต้องปฏิบัติตาม
แต่สมาชิกสามารถเปลี่ยนแปลง ข้อตกลงนี้ได้ด้วยการเจรจากับประเทศคู่ค้าของตน
หากประเทศคู่ค้าไม่พอใจก็อาจร้องเรียนต่อ องค์การการค้าโลกให้เป็นผู้พิจารณาข้อพิพาทนั้น
4. หลักความโปร่งใส (Transparency) สมาชิกต้องพิมพ์กฎเกณฑ์ทางการค้าของตนเผยแพร่
มีหน่วยงานรับผิดชอบในการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการค้า
และสามารถให้ข้อมูลทางการค้าแก่สมาชิกที่ขอและเป็นผู้แจ้งให้สมาชิกประเทศทราบถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายการค้าใดๆ
5. หลักประกันความปลอดภัย (Safety valves) กำหนดไว้ว่าในกรณีพิเศษ
รัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่งอาจจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อจำกัดการค้าได้ ดังนี้
1) ในกรณีที่ต้องการใช้การค้าเป็นมาตรการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ
2) เมื่อมาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการแข่งขันที่ยุติธรรม
3) เงื่อนไขที่อนุญาตให้สามารถใช้การแทรกแซงทางการค้าเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจ
ผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการเป็นสมาชิกขององค์การค้าโลก
1. มีหลักประกันทางการค้าระหว่างประเทศ
2. ได้รับประโยชน์ตามสิทธิและสิทธิพิเศษ
3. ได้ขยายการค้า
4. ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการ
5. มีเวทีสำหรับร้องเรียน
- องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Organization of the Petroleum
Exporting Countries: OPEC)
ใน ค.ศ. 1949
ประเทศเวเนซุเอลาได้เชิญชวนประเทศอิหร่าน อิรัก คูเวต และซาอุดีอาระเบีย
มาร่วมประชุมพิจารณาหาวิธีการในการติดต่อสื่อสารและประสานงานกันเกี่ยวกับการผลิตและกำหนดราคาน้ำมัน
อีกหลายปีต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1960
รัฐบาลของประเทศอิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา
ได้ไปประชุมกันที่กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก
เพื่อพิจารณาลดราคาน้ำมันของประเทศที่มาร่วมประชุมผลิตออกจำหน่าย
จากการประชุมครั้งนี้
สมาชิกประเทศที่ร่วมประชุมได้เห็นพ้องต้องกันในการจัดตั้งองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน
(Organization of
the Petroleum Exporting Countries) หรือเรียกชื่อย่อกันว่า โอเปก (OPEC) ขึ้นในวันที่
14 กันยายน ค.ศ. 1960
เพื่อทำหน้าที่ประสานงานเกี่ยวกับนโยบายการผลิตและการกำหนดราคาน้ำมันปิโตรเลียม
(หรือน้ำมันดิบ) ของประเทศสมาชิก
ต่อมามีประเทศผู้ผลิตน้ำมันอีกหลายประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิก เช่น กาตาร์
(ค.ศ. 1961) อินโดนีเซีย (ค.ศ. 1962) ลิเบีย (ค.ศ. 1962) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ค.ศ. 1967) แอลจีเรีย (ค.ศ. 1969) ไนจีเรีย (ค.ศ. 1971) แองโกลา (ค.ศ. 2007) โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่
กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
- สหภาพยุโรป (European Union: EU)
สหภาพยุโรปเป็นการรวมกลุ่มของประเทศยุโรปตะวันตกเพื่อสร้างเอกภาพทางการเมืองเศรษฐกิจ
การเงิน การต่างประเทศ สังคม และวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายคือยุโรปที่ไร้พรมแดน
สหภาพยุโรปพัฒนามาจากการดำเนินงานขององค์การความร่วมมือของยุโรปที่ก่อตั้งมาก่อน
คือ
1. ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป
หรืออีซีเอสซี (European Coal
and Steel community: ECSC ค.ศ. 1952)
2. ประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีซีซี (European Economic Community: EEC: ค.ศ. 1958)
3. ประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม
(European Atomic
Energy Community: EURATOM ค.ศ. 1958)
ประชาคมทั้ง 3 ได้รวมตัวกันเป็นประชาคมยุโรป (European Community: EC) เมื่อ ค.ศ. 1967 ภายหลังการลงนามในสนธิสัญญามาสตริกต์
(Maastricht
Treaty: ค.ศ. 1992) ทำให้เกิดสหภาพยุโรปหรืออียูขึ้นใน
ค.ศ. 1993
สนธิสัญญามาสตริกต์ประกอบด้วยโครงสร้างต่อไปนี้
1) ประชาคมยุโรป (The European Community – EC)
2) นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง
(Common Foreign
and Security Policy – CFSP)
3) ความร่วมมือด้านธุรกิจการยุติธรรมและกิจการภายใน
(Justice and
Home Affairs – JHA)
สหภาพยุโรปมีองค์กรหลักที่เกิดจากการรวมตัวกันของประเทศในยุโรป ดังนี้
- การจัดตั้งตลาดเดียวของยุโรป (Single Economic Marget: ค.ศ. 1993)
- ธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี (European Central Bank: ECB ค.ศ. 1999)
- คณะมนตรีสหภาพยุโรป (The European Central Bank)
- สถาบันการเงินแห่งยุโรป (European Monetary Institute)
สหภาพยุโรปประกอบไปด้วยรัฐอิสระ 27 ประเทศ
เป็นที่รู้จักกันในสถานะรัฐสมาชิก ได้แก่ ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย ไซปรัส
สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี
ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์
โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร
ปัจจุบันมีประเทศสมัครเข้าเป็นสมาชิก 3 ประเทศคือ โครเอเชีย
มาซิโดเนียและตุรกี ส่วนประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่านตะวันตกเช่น แอลเบเนีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
มอนเตเนโกรและเซอร์เบีย ถูกจัดให้เป็นประเทศที่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้
คอซอวอเองก็ได้สถานะนี้เช่นเดียวกัน
สหภาพยุโรปกำหนดให้ใช้เงินสกุลเดียวกันคือ เงินยูโร (Euro) เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1999 และกำหนดให้เงินยูโรเป็นหน่วยเงินจริงในระบบเศรษฐกิจของสหภาพ
เศรษฐกิจและการเงินหรืออีเอ็มยู (Economic and Monetary Union: EMU) สมาชิก ได้แก่ ประเทศออสเตรีย
เบลเยียม ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์
และสเปน ส่วนทางด้านการเมืองมีองค์กรหลัก คือ รัฐสภายุโรป (European Parliament) นอกจากนี้ยังให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
แอฟริกา และหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของประเทศสมาชิก
- สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรปหรือเอฟตา (European Free Trade Association หรือ EFTA)
เป็นการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในยุโรปตะวันตกที่ไม่พอใจต่อการดำเนินงานของสหภาพยุโรป
และมีจุดประสงค์คล้ายคลึงกับสหภาพยุโรป คือการปฏิรูประบบการค้าสินค้า
อุตสาหกรรมในกลุ่มประเทศภาคีสมาชิก
โดยการกำหนดวิธีการและแนวทางปฏิบัติทางด้านรายการสินค้าและภาษีศุลกากร
เอฟตาก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1960 ปัจจุบันมีสมาชิก 4 ประเทศ คือ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์
ลิกเตนสไตน์ และไอซ์แลนด์
มีเป้าหมายในการทำงานประสานกับตลาดร่วมยุโรปเพื่อกำหนดเขตการค้าเสรีร่วมกัน
- เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือหรือนาฟตา (North American Free Trade Area –
NAFTA)
นาฟตามีการลงนามจัดตั้งใน ค.ศ. 1992 และมีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. 1994 ประเทศสมาชิกของนาฟตาประกอบด้วย
สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก
การประกาศจัดตั้งนาฟตานั้น ประเทศต่างๆ
มองว่าเป็นองค์กรกีดกันสินค้าจากทั่วโลก เพราะสินค้าอุตสาหกรรมที่สั่งเข้าจากประเทศสมาชิกเท่านั้นที่จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากรและให้สิทธิพิเศษทางการค้า
นอกจากนี้นาฟตายังมีนโยบายในการให้เงินอุดหนุนแก่สินค้าเกษตรกรรมที่ประเทศสมาชิกส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดโลกด้วย
ผลกระทบต่อประเทศไทย
ผลดี คือ ไทยจะขายสินค้าอุตสาหกรรมขนาดย่อมและสินค้าการเกษตรบางชนิดได้มากขึ้นขึ้น
โดยใช้เม็กซิโกเป็นฐานการส่งออก
ผลเสีย คือ
เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดการส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย
มีมูลค่าการส่งออกมาก เมื่อก่อตั้งนาฟตา เม็กซิโกอาจเป็นตลาดสินค้านำเข้าของสหรัฐอเมริกาแทนประเทศไทย
- สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(Association of
Southeast Asian Nations: ASEAN)
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1967 ในการประชุมที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
เป็นองค์การความร่วมมือระดับภูมิภาค
วัตถุประสงค์
1. ส่งเสริมความร่วมมือและความช่วยเหลือในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ
สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และด้านการบริหารการจัดการ
2. ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
สมาชิกเริ่มแรกของอาเซียน ได้แก่
อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาภายหลังยุคสงครามเย็น
อาเซียนได้พยายามสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค
โดยมีเป้าหมายที่จะขยายจำนวนประเทศสมาชิกให้เป็น 10
ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมามีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่
บรูไนใน ค.ศ. 1984 เวียดนาม ใน ค.ศ. 1995 ลาวและพม่าใน ค.ศ. 1997 กัมพูชาใน ค.ศ. 1999
อาเซียนมีประชากรกว่า 500 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN
Summit) ครั้งที่ 4 เมื่อ ค.ศ. 1992
เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน
โดยมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย
และนับตั้งแต่ ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา
อาเซียนได้เสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินด้วยการ
1. แถลงแนวทางในอนาคตของอาเซียนเมื่อถึง
ค.ศ. 2020 (ASEAN
Vision 2020)
2. จัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers Meeting:
AFMM)
3. ริเริ่มความร่วมมือในการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก
(ASEAN
Surveillance Process) และความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น
จีน และเกาหลี
ใน ค.ศ. 1999
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนได้แถลงแผนปฏิบัติการฮานอย (Hanoi Plan of Action) ซึ่งประกอบด้วย 11 แผนงาน
รวมทั้งอนุมัติแผนดำเนินการทางด้านการเงินการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Work Programme 1999 -
2003) และแบ่งสรรหน้าที่ให้ประเทศสมาชิกรับผิดชอบ
อาเซียนมีสำนักเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
ทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้แก่การประชุมอาเซียน
รวมทั้งประสานงานและเสริมสร้างการดำเนินการตามนโยบาย โครงการและกิจกรรมต่างๆ
ของอาเซียน
อาเซียนมีการจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน
(ASEAN Finance
Ministers Meeting: AFMM) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance and Central Bank
Deputies Meeting: AFDM) 2 ครั้งต่อปี โดยประเทศสมาชิกจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
- เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA)
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านความเจริญเติบโตและความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมาชิกอาเซียนจึงตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา (AFTA) ขึ้นในการประชุมผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ใน ค.ศ. 1992
โดยมีจุดมุ่งหมายให้เกิดเขตการค้าเสรีขึ้นภายในระยะเวลา 15 ปี
วัตถุประสงค์ของอาฟตา
การก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพิ่มปริมาณการค้าภายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. สร้างแรงดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น
3. ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นฐานการผลิตที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก
การดำเนินการของอาฟตา
เนื่องจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าภายในภูมิภาคอาเซียน
จึงได้มีการดำเนินการ ดังนี้
1. ปรับปรุงกระบวนการการตรวจคนเข้าเมืองและระบบภาษีของประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกัน
เช่น
1) ปรับขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองให้สอดคล้องกัน
2) ปรับคำใช้เรียกภาษีศุลกากรให้สอดคล้องกัน
3) ให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงด้านการประเมินราคาของแกตต์
4) อำนวยความสะดวกพิธีการตรวจคนเข้าเมืองด้วยการจัดช่องทางพิเศษ
2. ลดอุปสรรคอันเกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี
เช่น
1) ยกเลิกค่าธรรมเนียมการตรวจคนเข้าเมือง
2) ปรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และการตรวจประเมินเพื่อการรับรองของประเทศสมาชิกให้สอดคล้องกัน
3) จัดทำข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement :
MRA) ด้านต่างๆ
- ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิกหรือเอเปก
(ASIA-PACIFIC
Economic Cooperation: APEC)
เอเปกก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน
ค.ศ. 1989
จากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ณ กรุงแคนเบอร์รา
ประเทศออสเตรเลีย โดยมีประเทศสมาชิกรวม 12
ประเทศ ต่อมาเอเปกได้รับสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก จนถึงปัจจุบันเอเปกมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น
21 ประเทศ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย
แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย
สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีน เขตปกครองพิเศษจีนไต้หวัน ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี
เปรู รัสเซีย และเวียดนาม โดยประเทศไทยเป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุม เอเปกใน
ค.ศ. 2003
วัตถุประสงค์ของเอเปก
การก่อตั้งเอเปกมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. พัฒนาและส่งเสริมระบบการค้าทวิภาคี
2. สนับสนุนการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก
3. ลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า
การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก
โดยให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก
4. ส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเงินการคลังในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ
ความร่วมมือภายใต้กรอบของเอเปก
เอเปกไม่ได้จัดว่าเป็นองค์การความร่วมมือ
แต่เป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจที่ประเทศสมาชิกสนใจ
การดำเนินการให้ยึดหลักฉันทามติ ความเท่าเทียมกัน
และผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก มีสำนักงานดำเนินการอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์
โดยมีกลไกการดำเนินงาน ดังนี้
1. การประชุมผู้นำด้านเศรษฐกิจของเอเปก (APEC Economic Leaders Meeting: AELM)
ปีละ 1 ครั้ง
ซึ่งเป็นการประชุมระดับผู้นำของประเทศหรือผู้แทนรัฐบาลเข้าร่วมประชุม
2. การประชุมรัฐมนตรีเอเปก (APEC Ministerial Meeting: AMM) ปีละ 1
ครั้ง
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม
เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานของเอเปกที่ได้จากการประชุมรัฐมนตรีด้านต่างๆ
และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส
3. การประชุมรัฐมนตรีการคลัง (APEC Finance Minister’s Meeting:
AFMM) ปีละ 1 ครั้ง
ทำหน้าที่พิจารณาผลการดำเนินงานในสาขาการเงินการคลัง
ซึ่งได้รับรายงานจากการประชุมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารชาติของเอเปก
(APEC Finance
and Central Bank Deputie’s Meetings) และคณะทำงานด้านการคลัง (Meeting of the Finance Working Group) ภายใต้กรอบเอเปก
และเพื่อรายงานกิจกรรมที่สำคัญต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปก
4. การประชุมรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารชาติของสมาชิกเอเปก
(APEC Finance
and Central Bank Deputie’s Meetings) ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นปีละ 2
ครั้ง โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและรองผู้ว่าการธนาคารชาติของ
สมาชิกเอเปกเข้าร่วมการประชุมเพื่อพิจารณาการดำเนินการของคณะทำงานต่างๆ ของเอเปก
ธนาคารชาติของประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมการประชุมภายใต้กรอบเอเปกอย่างเป็นทางการหลังจากการประชุมผู้นำด้านเศรษฐกิจของเอเปกครั้งที่
6 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
เมื่อ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1998 มีมติให้ดำเนินการของคณะทำงานต่างๆ
5. สำนักเลขาธิการเอเปก (APEC Secretariat) ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์
มีหน้าที่ติดตามและประสานความร่วมมือต่างๆ ของเอเปก
จัดการด้านบริหารและงบประมาณและบริหารกองทุนกลางเอเปก (APEC Central Fund) และเงินบัญชีพิเศษ (Special Account)
ทดสอบหลัง การประสานประโยชน์