วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562




ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อาณาจักรล้านนา

อาณาจักรล้านนา คือ ราชอาณาจักรของชาวยวนในอดีต ตั้งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ตลอดจนสิบสองปันนา เช่น เมืองเชียงรุ่ง (จิ่งหง) มณฑลยูนนาน ภาคตะวันออกของพม่า ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีเมืองเชียงตุงเป็นเมืองเอก ฝั่งตะวันตกแม่นำสาละวิน มีเมืองนายเป็นเมืองเอก และ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอนโดยมีเมืองเชียงใหม่ เป็นราชธานี มีภาษา ตัวหนังสือ วัฒนธรรม และประเพณีเป็นของตนเอง ต่อมาถูกปกครองในฐานะรัฐบรรณาการหรือรัฐส่วยของอาณาจักรตองอู อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรล้านช้าง และอาณาจักรอังวะ จนสิ้นฐานะอาณาจักร กลายเป็นเมืองส่วนหนึ่งของอาณาจักรอังวะในราชวงศ์นยองยาน ไปในที่สุด

ชื่อ
ล้านนา หมายถึง ดินแดนที่มีนานับล้าน หรือมีที่นาเป็นจำนวนมาก คู่กับล้านช้าง คือดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว เมื่อปี พ.ศ. 2530 คำว่า "ล้านนา" กับ "ลานนา" เป็นหัวข้อโต้เถียงกัน ซึ่งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมี ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ได้ให้ข้อยุติว่า "ล้านนา" เป็นคำที่ถูกต้อง และเป็นคำที่ใช้กันในวงวิชาการ

ปัญหาที่นำไปสู่การโต้เถียงกันนั้น สืบเนื่องมาจากในอดีตการเขียนมักไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องวรรณยุกต์ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า แม้จะเขียนโดยไม่มีรูปวรรณยุกต์โทกำกับ แต่ให้อ่านเหมือนมีวรรณยุกต์โท สำหรับคำ "ลานนา" น่าจะมาจากพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ลานนาหมายถึงทำเลทำนา" ซึ่งทำให้คำว่าลานนาใช้กันมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ ภายหลัง พ.ศ. 2510 นักวิชาการระดับสูงพบว่าล้านนาเป็นคำที่ถูกต้องแล้ว และชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อ ดร. ฮันส์ เพนธ์ ค้นพบคำว่า "ล้านนา" ในศิลาจารึกที่วัดเชียงสา ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2096[5] อย่างไรก็ดี การตรวจสอบคำว่า ล้านนา ได้อาศัยศัพท์ภาษาบาลี โดยพบว่าท้ายคัมภีร์ใบลานจากเมืองน่านและที่อื่นๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 50 แห่ง เขียนว่า ทสลกฺขเขตฺตนคร (LN-Dassalakakettanakorn.png) /ทะสะลักขะเขตตะนะคอน/ แปลว่า เมืองสิบแสนนา เป็นคำคู่กับเมืองหลวงพระบางที่ชื่ออาณาจักร ศรีสตนาคนหุต หรือช้างร้อยหมื่น

คำว่าล้านนาน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพญากือนา เนื่องจากพระนาม "กือนา" หมายถึงจำนวนร้อยล้าน และต่อมาคำล้านนาได้ใช้เรียกกษัตริย์และประชาชน แพร่หลายมากในสมัยพระเจ้าติโลกราช
ส่วนการใช้ว่า "ล้านนาไทย" นั้น เป็นเสมือนการเน้นความเป็นไทย ซึ่งใช้กันมาในสมัยหลังด้วยเหตุผลทางการเมือง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อาณาจักรล้านนา อาณาเขต

อาณาเขต
หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ดินแดนล้านนานั้นหมายถึงดินแดนบางส่วนของอาณาเขตบริเวณ ลุ่มน้ำแม่โขง ลุ่มน้ำสาละวิน แม่น้าเจ้าพระยา ตลอดจนเมืองที่ตั้งตามลุ่มน้ำสาขาเช่นแม่นำกก แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปาย แม่น้ำแตง แม่น้ำงัด ฯลฯโดยมีอาณาเขตทางทิศใต้จดเมืองตาก (อำเภอบ้านตากในปัจจุบัน) และจดเขตดินแดนด้านเหนือของอาณาจักรสุโขทัย ทิศตะวันตกเลยลึกเข้าไปในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ทิศตะวันออกจดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ทิศเหนือจดเมืองเชียงรุ่ง (หรือคนจีนเรียกในปัจจุบันว่า เมืองจิ่งหง) ซึ่งบริเวณชายขอบของล้านนา อาทิ เมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองปุ เมืองสาด เมืองนาย เป็นบริเวณที่รัฐล้านนาแผ่อิทธิพล ไปถึงในเมืองนั้นๆ

ในสมัยโบราณได้กล่าวถึงเมืองขึ้นกับดินแดนล้านนามี 57 เมือง ดังปรากฏในตำนาน พื้นเมืองของเชียงใหม่ว่า ใน สัตตปัญญาสล้านนา 57 หัวเมือง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่ามีเมืองใดบ้าง ปัจจุบันมีหลักฐานที่พม่านำไปจากเชียงใหม่ในสมัยที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. 2101-2317) และได้แปลเป็นภาษาพม่า ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 ทางมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ Zinme Yazawin หรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่าได้ระบุเมืองต่าง ๆ หรือล้านนาไท 57 เมือง โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเมือง คือ กลุ่มเมืองขนาดใหญ่ มี 6 เมือง กลุ่มเมืองขนาดกลางมี 7 เมือง กลุ่มเมืองขนาดเล็กมี 44 เมือง เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงของ เมืองพร้าว เมืองเชียงดาว เมืองลี้ เมืองยวม เมืองสาด เมืองนาย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงคำ เมืองเชียงตอง เมืองน่าน เมืองเทิง เมืองยอง เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่ เมืองอิง เมืองไลค่า เมืองลอกจ๊อก เมืองปั่น เมืองยองห้วย เมืองหนองบอน เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง เมืองจำคา เมืองพุย เมืองสีซอ เมืองแหงหลวง เมืองหาง เมืองพง เมืองด้ง ฯลฯ
ประวัติศาสตร์
การก่อตั้งอาณาจักร

พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์; พญามังราย พญาร่วง และพญางำเมือง ขณะทรงปรึกษาหารือการสร้างเมืองเชียงใหม่
พญามังราย กษัตริย์แห่งหิรัญนครเงินยาง องค์ที่ 25 ในราชวงศ์ลวจังกราชปู่เจ้าลาวจก ได้เริ่มตีเมืองเล็กเมืองน้อย ตั้งแต่ลุ่มน้ำแม่กก น้ำแม่อิง และแม่น้ำปิงตอนบน รวบรวมเมืองต่างๆให้เป็นปึกแผ่น นอกจากเงินยางแล้ว ยังมีเมืองพะเยาของพญางำเมืองพระสหาย ซึ่งพญามังรายไม่ประสงค์จะได้เมืองพะเยาด้วยการสงคราม แต่ทรงใช้วิธีผูกสัมพันธไมตรีแทน หลังจากขยายอำนาจระยะหนึ่ง พระองค์ทรงย้ายศูนย์กลางการปกครอง โดยสร้างเมืองเชียงรายขึ้นแทนเมืองเงินยาง เนื่องด้วยเชียงรายตั้งอยู่ริมน้ำแม่กกเหมาะเป็นชัยสมรภูมิ ตลอดจนทำการเกษตรและการค้าขาย

หลังจากได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองมาอยู่ที่เมืองเชียงรายแล้ว พระองค์ก็ได้ขยายอาณาจักรแผ่อิทธิพลลงทางมาทางทิศใต้ ขณะนั้นก็ได้มีอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนอยู่แล้วคือ อาณาจักรหริภุญชัย มีนครลำพูนเป็นเมืองหลวงตั้งอยู่ในชัยสมรภูมิที่เหมาะสมประกอบด้วยมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านได้แก่แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิงซึ่งเป็นลำน้ำสายใหญ่ไหลลงสู่ทะเลเหมาะแก่การค้าขายและการป้องกันพระนคร มีนครลำปางเป็นเมืองหน้าด่านคอยป้องกันศึกศัตรู สองเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่มีกษัตริย์ปกครองอย่างเข้มแข็ง การที่จะเป็นใหญ่ในดินแดนแถบนี้ได้จะต้องตีอาณาจักรหริภุญชัยให้ได้ พระองค์ได้รวบรวมกำลังผู้คนจากที่ได้จากตีเมืองเล็กเมืองน้อยรวมกันเข้าเป็นทัพใหญ่และยกลงใต้เพื่อจะตีอาณาจักรหริภุญชัยให้ได้ โดยเริ่มจากตีเมืองเขลางค์นคร นครลำปางเมืองหน้าด่านของอาณาจักรหริภุญชัยก่อน เมื่อได้เมืองลำปางแล้วก็ยกทัพเข้าตีนครลำพูน (แคว้นหริภุญชัย) พระองค์เป็นกษัตริย์ชาตินักรบมีความสามารถในการรบไปทั่วทุกสารทิศ สามารถทำศึกเอาชนะเมืองเล็กเมืองน้อยแม้กระทั่งอาณาจักรหริภุญชัยแล้วรวบเข้ากับอาณาจักรโยนกเชียงแสนได้อย่างสมบูรณ์

หลังจากพญามังรายรวบรวมอาณาจักรหริภุญชัยเข้ากับโยนกเชียงแสนเสร็จสิ้นแล้ว ได้ขนามนามราชอาณาจักรแห่งใหม่นี้ว่า "อาณาจักรล้านนา" พระองค์มีดำริจะสร้างราชธานีแห่งใหม่นี้ให้ใหญ่โตเพื่อให้สมกับเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งอาณาจักรล้านนาทั้งหมด พร้อมกันนั้นก็ ได้อัญเชิญพระสหายสนิทร่วมน้ำสาบานสองพระองค์ได้แก่ พญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา และ พ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย มาร่วมกันสถาปนาราชธานีแห่งใหม่ในสมรภูมิบริเวณที่ลุ่มริมฝั่งมหานทีแม่ระมิงค์ (แม่น้ำปิง) โดยตั้งชื่อราชธานีแห่งใหม่นี้ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" แต่ก่อนที่จะตั้งเมือง พระองค์ทรงได้สร้างราชธานีชั่วคราวขึ้นก่อนแล้ว ซึ่งก็เรียกว่า เวียงกุมกามแต่เนื่องจากเวียงกุมกามประสบภัยธรรมชาติใหญ่หลวงเกิดน้ำท่วมเมืองจนกลายเป็นเมืองบาดาล ดังนั้นพระองค์จึงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ นครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 1839 และได้เป็นศูนย์กลางการปกครองราชอาณาจักรล้านนานับแต่นั้น นครเชียงใหม่มีอาณาเขตบริเวณอยู่ระหว่างเชิงดอยอ้อยช้าง (ดอยสุเทพ) และ บริเวณที่ราบฝั่งขวาของแม่น้ำปิง (พิงคนที) นับเป็นสมรภูมิที่ดีและเหมาะแก่การเพาะปลูกเนื่องจากเป็นบริเวณที่ราบลุ่มมีแม่น้ำไหลผ่าน

การล่มสลายของอาณาจักร

วัดเจดีย์หลวง สร้างขึ้นในช่วงยุคทองของล้านนา องค์พระเจดีย์พังทลายลงมาด้วยแรงแผ่นดินไหวเมื่อปี พ.ศ. 2088 อันเป็นลางบอกเหตุความแตกแยกในราชสำนักและความอ่อนแอของอาณาจักร
อาณาจักรล้านนาเริ่มเสื่อมลงในปลายรัชสมัย "พญาแก้ว" เมื่อกองทัพเชียงใหม่ได้พ่ายแพ้แก่ทัพเชียงตุงในการทำสงครามขยายอาณาจักร ไพร่พลในกำลังล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปีนั้นเกิดอุทกภัยใหญ่หลวงขึ้นในเมืองเชียงใหม่ ทำให้บ้านเรือนราษฎรเสียหายและผู้คนเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมาก สภาพบ้านเมืองเริ่มอ่อนแอเกิดความไม่มั่นคง หลังจาก "พญาแก้ว" สิ้นพระชนม์ก็เกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ ระหว่างขุนนางมีอำนาจมากขึ้น ถึงกับแต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าได้ เมื่อนครเชียงใหม่ศูนย์กลางอำนาจเกิดสั่นคลอน เมืองขึ้นต่าง ๆ ที่อยู่ในการปกครองของเชียงใหม่จึงแยกตัวเป็นอิสระ และไม่ส่งเครื่องราชบรรณาการอีกต่อไป ในยุคนี้ล้านนาถูกเข้าแทรกแซงอำนาจจากอาณาจักร์ล้านช้างและอยุธยาซึ่งล้านช้างเป็นฝ่ายชนะในการแทรกแซงล้านนา ส่งผลให้ล้านช้างได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือหัวเมืองล้านนาทุกหัวเมืองซึ่งเจ้าเมืองแต่ละหัวเมืองได้ยอมอ่อนน้อมและอยู่ภายใต้อำนาจ ส่งผลให้อาณาจักร์ล้านนากลายเป็นรัฐในอารักขาของล้านช้างในที่สุดในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งพระเจ้าโพธิศาลราชได้กลายเป็นจักรพรรดิที่อยู่เบื้องหลังของการรวมล้านนาเข้าไว้กับล้านช้างในช่วงสั้นๆโดยให้บุตรชายได้ปกครองเมืองเชียงใหม่ส่วนตนครองเมืองหลวงพระบางต่อไป ซึ่งเมืองหลวงพระบางในช่วงนี้มีอำนาจเหนือแคว้นล้านนาทุกหัวเมือง

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง พระเจ้าบุเรงนองแห่งหงสาวดีได้ทำศึกมีชัยชนะไปทั่วทุกทิศานุทิศ จนได้รับการขนานนามพระเจ้าผู้ชนะสิบทิศ พระเจ้าบุเรงนองได้ทำศึกยึดครองนครเชียงใหม่ไปประเทศราชได้สำเร็จ รวมทั้งได้เข้าได้ยึดเมืองลูกหลวงและเมืองบริเวณของเชียงใหม่ไปเป็นประเทศราชด้วย ในช่วงแรกนั้นทางพม่ายังไม่ได้เข้ามาปกครองเชียงใหม่โดยตรง เนื่องจากยุ่งกับการศึกกับกรุงศรีอยุธยา แต่ยังคงให้พระเมกุฏิสุทธิวงศ์ ทำการปกครองบ้านเมืองต่อตามเดิม แต่ทางเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปให้หงสาวดี ต่อมาพระเจ้าเมกุฎิทรงคิดที่จะตั้งตนเป็นอิสระ ฝ่ายพม่าจึงปลดออกและแต่งตั้งมหาเทวีวิสุทธิ ผู้มีเชื้อราชวงศ์มังราย ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นพระมารดาของพระเจ้าเมกุฏิ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทน จนกระทั่งมหาเทวีวิสุทธิสิ้นพระชนม์ ทางฝ่ายพม่าจึงได้ส่งเจ้านายทางฝ่ายพม่ามาปกครองแทน เพื่อคอยดูแลความเรียบร้อยของเมืองเชียงใหม่ และอีกประการหนึ่งก็เพื่อที่จะเกณฑ์พลชาวเชียงใหม่ และเตรียมเสบียงอาหารเพื่อไปทำศึกสงครามกับทางกรุงศรีอยุธยา

อาณาจักรล้านนาในฐานะเมืองขึ้นของพม่า มีการกบฏแก่งแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แต่เชียงใหม่อย่างเดียว แต่เมืองอื่น ๆ ในล้านนาก็ด้วย จนกระทั่งราชวงศ์นยองยาน สถาปนาอาณาจักรรัตนปุระอังวะอีกครั้งจึงหันมาปกครองเชียงใหม่โดยตรง

เชียงใหม่ภายใต้การปกครองของพม่าใช้เวลายาวนานถึง 200 กว่าปี แต่ก็มีบางช่วงที่สลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของอยุธยา เช่น สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และก็มีบางสมัยที่เป็นอิสระแต่ถูกครอบงำและถูกปกครองโดยกษัตริย์ลาวนามว่า องค์คำ จากอาณาจักรหลวงพระบางร่วม 30 กว่าปี


การปกครอง
อาณาจักรล้านนาเป็นรัฐพื้นเมือง มีคติเกี่ยวกับรัฐและกษัตริย์มีรูปแบบเฉพาะของท้องถิ่นที่เรียบง่าย โดยรับแนวคิดจารีตท้องถิ่นและแนวคิดที่ได้อิทธิพลจากพระพุทธศาสนา เมืองราชธานีไม่มีอำนาจในการปกครองมากนัก เนื่องด้วยปัญหาการคมนาคมที่ยากลำบากของรัฐในบริเวณที่ราบสูง ส่งผลให้ท่องถิ่นปกครองตนเองอย่างอิสระ


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ อาณาจักรล้านนา สถาบันกษัตริย์

สถาบันกษัตริย์
สังคมล้านนาสมัยโบราณมีศูนย์กลางอย่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กษัตริย์ทรงมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง สถาบันกษัตริย์ล้านนามีลักษณะที่เรียบง่าย อาทิ กษัตริย์จะสร้างคุ้มไม้ซึ่งเหมือนกับประชาชนทั่วไป ไม่ได้มีความโดดเด่น และกษัตริย์จะไม่มีฐานะเป็นสมมุติเทพ จึงไม่พบพระนามกษัตริย์ล้านนาพระองค์ใดมีชื่อทางฮินดู แต่พระนามกษัตริย์จะเป็นแบบพื้นเมืองตามท้องถิ่น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีคำราชาศัพท์ในอาณาจักรล้านนา กษัตริย์จะมีภาษาที่สุภาพกว่าประชาชน เนื่องจากมีการพัฒนามาจากผู้นำชุมชมขนาดเล็ก และไม่ได้อิทธิพลจากขอม ในความเป็นมาของผู้นำเกิดจากสังคมต้องการจัดระเบียบ ดังปรากฏในตำนานสิงหนวติกุมารสะท้อน หลังเวียงโยนกได้ล่มเป็นน้ำแล้ว ชาวบ้านที่รอดชีวิตจึงต้องการผู้นำ ซึ่งได้ "แก่บ้านบูมผู้หนึ่งที่ชื่อว่าขุนลังนั้น ให้เป็นใหญ่แก่เขาทั้งปวง....."

สถาบันกษัตริย์ล้านนาค่อย ๆ พัฒนาลำดับยศ ในช่วงแรกสมัยราชวงศ์ลาว ได้มีการเรียกตำแหน่งนี้ว่า ลาว ซึ่งมีความหมายว่า นาย หรือผู้มีอำนาจ ดังปรากฏในพระนามว่า ลาวจง ลางเคียง ลาวเม็ง ต่อมา ใช้คำว่า ขุน หรือท้าว และต่อมาใช้คำว่า มัง หมายความว่า กษัตริย์ เป็นภาษาพม่าโบราณ มีอิทธิพลมาจากพุกาม โดยกษัตริย์ล้านนาพระองค์แรกที่ใช้ตำแหน่งนี้คือ พญามังราย แต่พระนามที่แท้จริงคือคำว่า ราย เนื่องจากมังเป็นสมญานามที่สังคมปัจจุบันเรียก เพระาพบคำนี้ที่ศิลาจารึกวัดพระยืน ซึ่งไม่ใช่หลักฐานร่วมสมัย คำว่า มัง ยังปรากฏตามตำนามพื้นเมืองเชียงแสน โดยเรียกพญาไชยสงครามว่า "มังคราม" ส่วนคำว่า พญา หรือพระญา เป็นคำโบราณ หมายความว่า กษัตริย์ ซึ่งควรใช้หลังจากที่รับอิทธิพลหริภุญไชย กษัตริย์ล้านนาส่วนใหญ่ใช้คำว่า พญา ยกเว้นพระองค์เดียว คือ พระเจ้าติโลกราช เนื่องจากต้องการทัดเทียมกับกษัตริย์อยุธยาในส่วนของบารมี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แบบทดสอบ เหตุการณ์ 14 ตุลา เหตุการณ์ 14 ตุลา เรียกว่า วันอะไร   ก.       กบฏบวรเดช ข.       วันมหาวิปโยค ค.       การรัฐประหาร ...